บทความเรื่องการลับมีด

Rate this item
(3 votes)

บทความเรื่องการลับมีด

บทความเรื่องการลับมีด

Credit : พี่ Dick จาก คนรักมีด KRM performance

ตอนที่ 1

คมมีด” คมมีดมีหลายลักษณะ แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ และลักษณะการใช้งานอาทิ เช่น

Hollow Ground คือการทำคมมีดแบบเว้าด้านข้างของใบมีด คมมีดแบบนี้ผมเพิ่งทราบจาก “น้าน้อย” แห่งหมู่บ้านอรัญญิกเมื่อไม่นานมานี้ท่านเรียกว่า “แอ้ว” คือช่างตีมีดจะตีส่วนของใบมีดให้เป็นแอ่งเว้าลงไป เมื่อคมมีดฟันผ่านเนื้องาน จะเกิดแรงเสียดทานที่น้อยกว่า และทุ่นแรงในการฟันไม้ทั้งน้ำหนักในการฟัน และ จำนวนครั้งที่ฟัน คมมีดแบบนี้สามารถจะอยู่ในมีดได้ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือแม้แต่มีดที่ใหญ่ แต่แน่นอน มีดขนาดใหญ่มักจะมีความหนาที่หนาตามขึ้นไปด้วย เท่าที่เห็นในท้องตลาด คมมีดแบบนี้มักจะอยู่ในมีดขนาดใบไม่เกิน 4 นิ้ว และมีดฝรั่งที่สร้างชื่อมาช้านาน คือ Bob Loveless

Flat Grind การทำคมมีดชนิดนี้อาจจะทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่การการทำคมมีดที่มีพื้นที่หน้าตัดทางด้านความหนาของมีดเป็นทรงตัว V ในอักษรภาษาอังกฤษ และอีกลักษณะหนึ่ง ใบมีดแบบเสมอกัน หรือเกือบเสมอกัน แล้วไปทำมุมที่ส่วนคม คือคมมีดชนิดนี้ สามารถทำให้หนา และบางได้ต่างๆกันไป คมมีดแบบนี้เป็นที่นิยมในการผลิตมีดอย่างกว้างขวา ทั้งนี้น่าจะมาจากความง่าย ไม่ซับซ้อนทางการผลิต

Convex คมมีดแบบนี้มีลักษณะโค้งมน ทั้ง 2 ด้านของคมมีด ลักษณะคมมีดจะหนา ผู้ผลิตราบใหญ่ที่นิยมทำคมมีดแบบนี้ให้เหตุผลว่า เป็นคมมีดที่มีความคงทนสูง และสามารถผลิตได้โดยการตั้งคมด้วยมือ หรือความชำนายของช่างเท่านั้น

Chiesel Grinding หรือคมแบบสิ่ว คมมีดแบบนี้ เช่นสิ่วนั่นเอง ถูกออกแบบให้สามารถกินลึกเข้าสู่เนื้อไม้ได้ดี หรือหากเอาไปใช้ในการทำอาหาร จะทำให้อาหารที่ถูกเฉือนล้มลงไปทางด้านที่คมมีดปาดเฉียง ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้ที่ถนัดซ้าย ส่วนของคมมีดที่ถูกปาดออกต้องอยู่ด้านซ้าย และจะอยู่ด้านขวาเมื่อผู้ใช้มีดถนัดขวา คมมีดแบบนี้จึงน่าจะถูกจำกัดด้วยความถนัดของบุคคลที่ใช้มัน

นอกจากคมมีดหลายแบบข้างต้นแล้ว ผู้เขียนยังเคยเห็นคมมีดแบบผสมในมีดเล่มเดียวกันในมีดที่ออกแบบเป็นมีดแนว Tanto ของญี่ปุ่นที่ฝรั่งเอาไปผลิต (ผู้เขียนต้องขออภัยที่มิได้กล่าวถึงมีดของญี่ปุ่น เนื่องจากขีดจำกัด ไม่มีความรู้เพียงพอ) เช่นมีดของ Bob Lum เป็นแบบผสมระหว่าง Hollow Ground ที่ส่วนท้องของมีด และไปหนาที่ส่วนปลาย คมมีดแบบนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคมมีดในอุดมคติของมีดเชิงยุทธวิธีจนไปถึงมีดยังชีพ (จนเอาแนวคิดไปออกแบบ Dickier l) ด้วยเหตุผลที่ว่าคมมีดบางเกินไปแม้จะคมเฉียบ แต่ความทนทานจะเสียไป และคมมีดที่หนาเกินไปก้อาจจะไม่คมเฉียบเท่ากับมีดที่คมบางกว่า แนวคิดในการออกแบบมีดลักษณะนี้อาจจะไม่ใช่ของใหม่เพราะมีดอีเหน็บของไทยก็ไม่คมหนา ไปบางที่ส่วนปลายมีด และการใช้อีเหน็บก้จะเลือกใช้คมของมีดตามวัตถุประสงค์ เทคโนโลยีทางการผลิตมีดในปัจจุบันพัฒนาไปมาก แนวคิดของการผสมผสานคมมีดปัจจุบันจึงอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือสามารถเอาส่วนที่คมหนาไปไว้ที่ปลายมีดแทน เพื่อประโยชน์ในการเจอะ แงะ หรืองัดแงะสิ่งต่างๆ

ไม่ว่าคมมีดจะเป็นแบบใดก็ตาม ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า องสาของคมมีดมีอยู่เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่พวกต่างๆดังนี้

1. 17 – 30 องสา สำหรับมีดทำครัวเฉพาะ หรือมีดใช้งานทั่วไป
2. 30 – 40 องสา สำหรับมีดใช้งานทั่วไป และมีดที่เน้นการต่อสู้เรื่อยไปจนถึงมีดขนาดใหญ่ใบยาวถึง 9 – 10 นิ้ว
3. 60 – 70 คงสา ซึ่งเป็นคมขวาน


ตอนที่2

คมมีดที่ดี

คมมีดที่ดี คือคมที่มีองศาเหมาะสมกับงานที่ใช้ เช่นถ้าใช้ผ่าไม้ ตัดไม้ ต้องมีคมที่หนา มีองศามาก อย่างน้อยน่าจะ 40 องศาขึ้นไป และบางกว่านั้น หากเราใช้มีดทำการอื่นที่ละเอียดอ่อนกว่า (รายละเอียดองศาของคมมีดกรุณาที่บทแรก)

ในบทนี้ เราจะพิจารณากันถึงลักษณะของคมมีดในประเด็นนอกเหนือจากองศา

ฒ.ผู้เฒ่า” ท่าน ผู้อาวุโสในวงการมีดผู้เป็นเจ้าของปริญญาโททางด้านโลหะวิทยา ท่านผู้นี้นับว่าเป็นช่างมีดที่อาจจะไม่ได้ประกอบอาชีพได้เคยพูดถึง “เกสร” ที่คมมีด มีดที่ดีต้องมีเกสรที่คมมีด

ขุนค้อนเดียวดาย” เคยเรียกคมมีดดังกล่าวว่า “คมแบบหญ้าคา”

ฝรั่ง” เรียกคมมีดแบบนี้ว่ามันมี Micro Serrate

มีดที่มีคมเฉียบ ไม่ว่าจะเป็นกี่องศา ล้วนแต่ต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ผมของเรียกสิ่งนี้ว่า “เกสร” เป็นการให้เกียรติแก่ท่านผู้อาวุโสซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ผมได้ยินเรื่องนี้มา

นับแต่อดีต ตั้งแต่ผมโตขึ้นมา ผมมักจะเห็นคนบ้านเราส่วนใหญ่ลับมีดแบบแนวขนานกับความยาวของมีด ซึ่งผมเห็นว่ามันก็สามารถใช้งานได้ดี แต่เมื่อเห็นมีดฝรั่ง และเห็นเครื่องมือลับมีดชั้นดีทั้งหลาย ผู้ออกแบบมักจะเน้นการลับคมมีดแบบแนวการขัดฝนเป็นมุมฉากขวางแนวยาวของใบมีด (กรุณาสังเกตมีดที่ผลิตจากโรงงาน เกือบทั้งสิ้นลับคมแบบทำมุมฉากกับแนวยาวของมีด) เหตุผลของการลับมีดในรูปแบบนี้ก็เพื่อต้องการ เกสรที่คมมีดนี่เอง (นอกเหนือไปจากการควบคุมองศาที่คมมีดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้มีด)


ตอนที่3

คำจำกัดความ และวัตถุประสงค์ของการลับมีดการลับมีด

การลับมีดคือการขัดถู หรือการขัดฝนให้คมมีดสึกหรอ บางลง และส่วนคมทำมุม 25 หรือ 30 องศาหรือมากกว่านั้น ตามอุดมคติของมีดตามการใช้งานที่เหมาะสม

อนึ่ง เนื่องจากมีดที่พวกเราใช้กัน เป็นมีดที่มักจะพิเศษว่ามีดทั่วไป คือมีความเป็นศาสตราภรณ์ ( คำนี้ได้ยินครั้งแรกจากพี่ซันนี่) อยู่ด้วย ดังนั้นนอกจากมีดจะต้องคมตามข้อกำหนดแล้ว ยังต้องคงความสวยงามดังเดิม (ไม่เสี่ยงต่อการทำให้ด้านข้างของมีดเป็นริ้วรอย) ดังนั้น ในข้อเขียนว่าด้วยการลับมีดนี้จะเน้นเอาเครื่องมือลับมีดชั้นดีเป็นหลัก

การลับมีดมีหลักอยู่อย่างหนึ่ง คือจะต้องเกิดการขัดฝน การขัดฝนหมายถึงการที่มีด หรือหินลับมีดเกิดการเคลื่อนไหว อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเคลื่อนไหวทั้งสองอย่าง

โดยส่วนตัว ผมชอบให้มีด หรือหินลับมีด อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหว หมายความว่ามีอยู่ 1 ปัจจัยที่อยู่นิ่ง เชื่อว่าจะทำให้ความแม่นยำในการทำงานดีขึ้น และยังทำให้การลับมีดปลอดภัยขึ้นด้วย

(หลายครั้งที่ตัวเองถูกมีดบาดในขณะทำการลับ และที่สังเกตสาเหตุก็เป็นเพราะว่า ทั้งมีด และหินลับมีดมีการเคลื่อนไหวทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน)


หินลับมีด
หินลับมีดมีหลายแบบ ตั้งแต่หินที่มาจากธรรมชาติ และหินที่มาจากการผสมผสานสารขัดเข้ากับเซรามิค สารขัดที่เป็นที่นิยมได้แก่ อลูมิเนียมออกไซด์ (Aluminum Oxide) ออกไซด์เหล่านี้เป็นผลพลอยได้จากการถลุงอลูมิเนียม เนื่องจากมีความแข็ง และมีผลึกที่เป็นรูปทรงเหลี่ยม แม้จะแตกผลึกเป็นทรงเหลี่ยมตลอดเวลา อลูมิเนียมออกไซด์จะมีหลายสี เช่นสีชมพู สีขาว และสีน้ำตาล ตามข้อมูลที่ผมมีอยู่ความแข็งของวัสดุนี้อยู่ที่ 9 MOH (ไม่ทราบว่าถ้าเป็นหน่วย HR จะเทียบเป็นเท่าไหร่) ซึ่งน่าจะแข็งกว่าเหล็กทำมีดอยู่มาก

นอกจากสารขัดข้างต้น ยังมีสารขัดที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางคือ ซิลิคอนคาร์ไบด์ (Silicon Carbide) ตามสเป็คที่มีอยู่ มีความแข็งที่ 9 – 10 MOH ซึ่งแข็งกว่าแบบแรก

หินลับมีดที่ดีควรจะมีความหนาแน่นของสารขัด (Abrasive) อยู่ในเนื้อสูง และมีความสม่ำเสมอของขนาดของสารขัดไม่ให้ขนาดใหญ่สุดมีขนาดโตกว่าที่เล็กสุดมากเกินไป

การสึกหรอของหินลับมีดไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจนัก ถ้าไม่สึกหรอเร็วเกินไป เพราะการสึกหรอของหินลับมีดจะทำให้สารขัดแตกตัวออกไปจากการขัดถูหลุดออกไป และส่วนที่ผสมอยู่ในเนื้อด้านนอกที่อยู่ด้านในมีโอกาสออกมาทำหน้าที่ขัดฝนเนื้อเหล็ก

น้ำ น้ำมัน หรือหินลับมีดเปลือยๆ ?

ผู้เขียนไม่มั่นใจนักถึงแนวคิดของผู้ผลิตต่างๆที่ออกแบบหินขัด และสิ่งประกอบในการใช้งาน แต่มีความสังเกตจากการใช้งานดังนี้
1.น้ำ หรือ น้ำมัน (ที่ไม่ลื่นเกินไป) จะช่วยเก็บเอาเศษโลหะ และเศษของหินลับมีดรวมตัวกันไว้ไม่เป็นละอองปลิวออกขณะที่ทำการลับมีด ละอองของเหล็ก และจากหินลับมีดอาจจะเป็นสาเหตุของโรคปอดชนิดหนึ่ง เรียกว่าโรค Silicosis (ฝุ่นผงที่มีความคมเข้าสู่ปอด และทิ่มตำอยู่กับผนังปอดไม่สามารถขับออกได้ตามธรรมชาติด้วยเสมหะ ในที่สุดเกิดเป็นแผล และกลายเป็นแผลเป็นรอบๆแผลนั้น.....โรคนี้ไม่มีทางรักษา และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น)

2.น้ำ หรือน้ำมันจะช่วยลอกเอาสิ่งฝังแน่นในเนื้อหินลับมีด ทำให้ผิวของหินลับมีดเปิดออกตลอดเวลาช่วยให้สารขัด และเหล็กใบมีดสัมผัสกันโดยตรง (นึกภาพว่ามีโคลน หรือเทียบเคลือบอยู่ที่ผิวกระดาษทรายทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขัดถู)

3.มีดเหล็กกล้าบางชนิดอาจจะเป็นสนิมง่าย การลับมีดด้วยน้ำอาจจะเป็นบ่อเกิดของสนิมได้แม้ในขณะที่ทำการลับมีด ดังนั้นกรณีอย่างนี้ การใช้น้ำมันที่ไม่ลื่นมากเกินไป หรือลับมีดโดยไม่ต้องใช้ของเหลวช่วย น่าจะเป็นการดี ผู้เขียนเคยใช้น้ำสบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาทำความสะอาดบางชนิดช่วยการลับมีด ซึ่งก็ได้ผลดี และไม่ลื่นเกินไปเหมือนกับการใช้น้ำมัน

4.หินลับมีดบางชนิด เช่น Lansky ให้น้ำมันมาด้วยกับชุดหินลับมีดทุกแบบ แต่ผู้เขียนพบว่าน้ำมันที่ให้มากับชุบลับมีดแบบ Diamond ทำให้เม็ดสารขัดหลุดลอกได้ง่าย (ชุด Diamond ถ้าหากเม็ดสารขัดหลุดออกไป หินลับมีดนั้นก็หมดอายุใช้งาน)

 


 ขอบคุณข้อมูลดีๆ 
จาก www.konrakmeed.com 

Read 39437 times